วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

งานเดี่ยวดนตรี

สาระและจุดมุ่งหมายของศิลปะศาสตร์
พระเทพ (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวถึงสาระ และจุดมุ่งหมายของศิลปะศาสตร์ดังนี้
ศิลปศาสตร์ ถึงจะแตกแขนงเป็นวิชาการต่าง ๆ มากมายหลายประการก็ตาม แต่ในที่สุด มันก็รวมลงที่รากฐานของมันเป็นอันเดียวคือ การมีสัจจะธรรมเป็นรากฐาน และสัจจะธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา ดังนั้นหลักการทั้งหมดจึงมาบรรจบกันที่สิ่งซึ่งเป็นแก่นแท้ของการศึกษาศิลปะศาสตร์ คือ การที่จะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ “ศิลปะศาสตร์” จนถึงรากฐานคือ สัจจะธรรม
ความสำเร็จของศิลปะศาสตร์อยู่ที่สัจจะ จริยะ และศิลปะ
เรามาพูดถึงรากฐานของศิลปะศาสตร์ว่าได้แก่ สัจจะธรรม ก็คือรู้สิ่งที่เป็นแกนเป็นรากฐานเมื่อเกิดปัญญารู้ในสัจจะธรรมแล้ว นำความรู้นั้นมาใช้ก็ปฏิบัติต่อชีวิต ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบตัว ต่อธรรมชาติ ต่อสังคมโดยถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักความจริงธรรมดาว่า คนจะปฏิบัติต่อสิ่งใดได้ถูกต้องก็จะต้องรู้จักสิ่งนั้น เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นแล้วเรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลกถูกต้อง ต่อชีวิตถูกต้อง ต่อประสบการณ์ต่าง ๆ ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ถูกต้อง
การนำความรู้ในสัจจะธรรมมาใช้ ซึ่งทำให้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั้นเองคือ สิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม
ความเป็นศิลปะ ได้แก่ ความถนัดจัดเจนแคล่วคล่องในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการดังนั้นคนที่มีศิลปะก็จึงสามารถที่จะนำเอาความรู้มาใช้ปฏิบัติให้เกิดผล ตรงข้ามกับคนบางคนซึ่งทั้งที่รู้แต่ไม่มีศิลปะ ทำแล้วก็ไม่เกิดผลที่ต้องการหรือไม่ได้ผลดี
ศิลปะนี้เป็นตัวแทรกสำคัญ สำหรับใช้คู่กันกับจริยธรรม จริยธรรมเป็นตัวการนำความรู้ มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตตามวัตถุประสงค์ ส่วนศิลปะก็คือความแคล่วคล่องชำนาญจัดเจนในการปฏิบัติ ที่จะให้การใช้ความรู้สำเร็จผลอย่างนั้น
ด้วยเหตูผลนี้ ศิลปศาสตร์ จะสำเร็จประโยชน์ตามความหมาย ตามเนื้อหาสาระ และตามความมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนเข้าถึงสัจจะธรรมแล้วปฏิบัติถูกต้องโดยเป็นไปตามจริยธรรม และลงมือจัดทำอย่างมีศิลปะ

ผู้บรรลุจุดหมายของศิลปะศาสตร์
ศิลปะศาสตร์อำนวยคุณค่าที่แท้จริง คือ แก้ปัญหาของมนุษย์และแก้ปัญหาของสังคมได้ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นมา พ้นปัญหา พ้นทุกข์ ประสบความสุข มีอิสรภาพ การที่มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพนี้แหละ เป็นจุดหมายชั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้และสูงสุดของชีวิต
สาระสำคัญ 3 อย่างที่กล่าวมานี้คือ คุณสมบัติของบัณฑิต คนที่ศึกษาจบจริง ๆ จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ
1. มีปัญญา รู้ถึงสัจจธรรม
2. ใช้ความรู้นั่นดำเนินชีวิต โดยปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมด้วยจริยธรรม โดยมีศิลปะ
3. เข้าถึงจุดหมายของชีวิต คือแก้ปัญหาได้ พ้นทุกข์ พ้นปัญหา ประสบอิสรภาพ
โดยสรุปคำว่า ศิลปศาสตร์ คือ วิชาการที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญาเป็น เครื่องพัฒนาสติปัญญา และยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้เข้าถึงอิสรภาพเป็นเสรีชน ผู้เพียบพร้อมด้วยความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม ซึ่งจะเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: